10 อันดับนักเปียโน่ที่ดังตลอดกาล
นิตยสารเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิกและศิลปะชื่อ Limelight
จากประเทศออสเตรเลีย
เป็นนิตยสารทั้งฉบับตีพิมพ์ปกติและส่วนที่เป็นเว็บไชต์อยู่ในอินเตอร์เน็ต
บทความล่าสุดของ เมลิซซ่า เลสนี นำเสนอรายชื่อ “10
นักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล” อันเกิดจากการโหวตของนักเปียโนชื่อดังรุ่นใหม่หลายต่อหลายคน
พร้อมทัศนะบางส่วนจากนักเปียโนคลื่นลูกใหม่
ที่มีต่อนักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลเหล่านั้น
ความแตกต่างระหว่างดนตรีคลาสสิกและดนตรีป๊อปบางประการ
ส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวบทเพลง ขณะที่ดนตรีป๊อปมีเพลงใหม่ๆ ออกมาเพื่อสร้างกระแสนิยมได้เป็นระยะๆ
อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงตัวศิลปินผู้สร้างสรรค์หรือนำเสนอผลงานมากมายแต่ดนตรีคลาสสิก
แม้มีนักดนตรีหน้าใหม่สู่วงการสม่ำเสมอ แต่บทเพลงที่นิยมนำมาบรรเลงมักเวียนวน
นิยมเล่น นิยมฟังกันซ้ำๆ กันอยู่ไม่กี่เพลง เป็นเรื่องของการนำเพลงเก่า มาเล่น
มาตีความใหม่ความนิยมชมชื่นศิลปินดนตรีคลาสสิก
ส่วนหนึ่งอยู่ที่ความส่ามารถของศิลปินด้าน “เทคนิคการบรรเลง”
และ การ “ตีความเพลง” เก่าๆ
ยอดนิยมเหล่านั้น ไม่แปลกใจว่าทำไมวงการดนตรีคลาสสิกจึงมักพูดถึง เขียนถึง
หรือยกย่องชื่นชมนักดนตรี, วาทยกร, นักร้อง
หน้าเก่าๆ ชื่อซ้ำๆ กันไม่กี่คน
ไม่เหมือนดนตรีป๊อปที่มีศิลปินทั้งเก่าและใหม่มากมาย จนจดจำชื่อไม่ไหว
ความยิ่งใหญ่ตลอดกาลของศิลปินดนตรีคลาสสิก
ต้องการระยะเวลาในการพิสูจน์ความสามารถของผู้สร้างสรรค์และนำเสนอผลงานดนตรี
ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะต้องใช้เวลามากกว่าศิลปินซีกดนตรีป๊อป
ผลการโหวต 10 นักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล
จึงตกเป็นของ “ศิลปินอาวุโส” ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ผ่านหนาวผ่านร้อน ผ่านการพิสูจน์ ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน เกือบทั้งสิ้น
ซึ่งประกอบด้วย
อันดับ 10 - อาร์เธอร์ ชนาเบล (Artur
Schnabel) นักเปียโนชาวออสเตรีย นักเปียโนคนแรกที่บันทึกเสียงบทเพลงเปียโน
โซนาต้า ของเบโธเฟน ครบทุกเพลง ในปี ค.ศ. 1931 จนนักวิจารณ์ดนตรีบางคน
ตั้งสมญานามให้เขาว่า “เป็นผู้ปลุกปั้นเบโธเฟน” ให้โด่งดังโจนาธาน
บีส นักเปียโนหนุ่มชาวอเมริกัน กล่าวถึงชนาเบลว่า “ถ้ามีใครมาถามผมว่า
นักเปียโนที่ผมรักมากที่สุดคือใคร ผมอาจตอบไม่ได้ เพราะมีมากมายหลายคนเหลือเกิน
แต่ถ้าถามว่าใครเป็นนักเปียโนที่สร้างแรงบันดาลใจทางดนตรีให้ผม ผมตอบได้ง่ายกว่า
ว่า เขาคือ อาร์เธอร์ ชานาเบล”
แผ่นซีดีที่ผู้เขียนคิดว่าเหมาะสำหรับทำความรู้จักกับชนาเบล โดยเฉพาะนักดนตรี
คงไม่พ้น แผ่นซีดีบ๊อกซ์ เซท 8 แผ่น สังกัดอีเอ็มไอ เดี่ยวเปียโน โซนาต้า
ของเบโธเฟน ครบทุกเพลง หนึ่งใน “100 สุดยอดอัลบั้มดนตรีคลาสสิก”
จากนิตยสารแกรมโมโฟน แต่อาจเป็นอัลบั้มที่ไม่ถูกใจคอเพลงทั่วไป
ด้วยข้อด้อยของการบันทึกเสียงและเทคโนโลยียุคนั้น
อันดับ 9 - วิลเฮล์ม เคมฟ์ (Wilhelm
Kempff) นักเปียโนชาวเยอรมัน
ผู้มุ่งเน้นบรรเลงผลงานเพลงเปียโน สำนักเยอรมัน ซึ่งแม้ในวัย 80 ปี เคมฟ์
ก็ยังเล่นคอนเสิร์ตอยู่อย่างสม่ำเสมอ
จุดเด่นเสียงเปียโนของเคมฟ์เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกลึกซึ้ง สีสันน่าฟัง
แฝงพลังดนตรีอันยิ่งใหญ่ ไชเพรียน แคทซาริส นักเปียโนชาวฝรั่งเศส เชื้อสายไซปรัส
รำลึกถึงเคมฟ์ว่า “ถ้าเคมฟ์ยังมีชีวิตอยู่ถึงยุคนี้
ผมแน่ใจว่าเขาจะเป็นนักเปียโนที่ประสบความสำเร็จมาก
เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับนักดนตรี
คือการมีบุคลิกทางดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะตัวมากๆ และเขามีคุณสมบัตินี้” สื่อผลิตซ้ำทางดนตรีที่ผู้เขียนนึกถึงเมื่อเอ่ยถึงเคมฟ์
เท่าที่ผู้เขียนเคยฟังมาและอยากแนะนำ คือ อัลบั้มบ๊อกซ์ เซท 8 แผ่น บรรเลงเปียโน
โซนาต้า ครบทุกเพลง เวอร์ชั่นแรก บันทึกเสียงระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1951 ถึง
1956 (เคมฟ์บันทึกเพลงนี้ 2 ครั้ง) แม้เป็นการบันทึกเสียงในระบบโมโน
แต่สุ้มเสียงออกมาน่าฟัง (มากๆ) กว่าที่คิดไว้ ผลงานการบรรเลงอื่นๆ
ที่น่าฟังของเคมฟ์ ได้แก่บทเพลงของบาค และชูเบิร์ต
อันดับ 8 - อัลเฟรด เบรนเดล (Alfred Brendel) เป็นเพียงหนึ่งในสิบของนักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล
ที่ยังมีชีวิตอยู่ เบรนเดลเป็นนักเปียโนชาวออสเตรีย เคยบันทึกเสียงการบรรเลงเปียโน
โซนาต้า ของเบโธเฟน ครบทุกเพลง เพื่อจัดทำสื่อผลิตซ้ำทางดนตรีมาแล้วถึง 4 ครั้ง
เป็นนักเปียโนคนที่สอง (คนแรกคือชนาเบล) ที่เดี่ยวเปียโน โซนาต้า ครบทั้ง 32
เพลงในการแสดงที่คาร์เนกี้ ฮอลล์ อัลบั้มการบรรเลงเปียโน โซนาต้า ผลงานของเบโธเฟน
ของเบรนเดล แม้น่าฟังหลายเพลง (บ๊อกซ์ เซท 10 แผ่น เวอร์ชั่นล่าสุด ออกเผยแพร่ปี
ค.ศ. 2009) แต่ยังไม่ “ร้อนแรง” เกือบทุกเพลงเท่าเวอร์ชั่นการบรรเลงของชนาเบลและเคมฟ์
ผู้เขียนกลับติดใจอัลบั้มสังกัดฟิลิปส์ รวม 4 แผ่น บรรเลงเปียโน โซนาต้า ของ ไฮเดิน
คุ้มค่าการฟัง ทั้งการเล่นและการบันทึกเสียงเปียโนได้ใกล้ชิดเป็นธรรมชาติยิ่ง และ
อัลบั้ม 7 แผ่น ชุด Schubert: Piano Works 1822 - 1828
สามารถสำแดงความโดดเด่นในการบรรเลงและตีความเพลงผลงานเพลงของชูเบิร์ต โดยเบรนเดล
ได้สมความเป็นนักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลอีกคนหนึ่ง
อันดับ 7 - เกลน กูลด์ (Glenn Gould) นักเปียโนชาวแคนาดา
หนึ่งเดียวแห่งความแปลกและแหวกกรอบทั้งด้านดนตรีและการใช้ชีวิตส่วนตัว
เป็นศิลปินคลาสสิกเพียงไม่กี่คน
ที่มีเรื่องราวน่าสนใจให้ผู้คนติดตามผ่านทางสื่อต่างๆ ได้มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ, แผ่นเสียง, แผ่นซีดี,
ภาพยนตร์สารคดีดนตรีเรื่องราวหลากแง่มุมของกูลด์, รายการโทรทัศน์ในประเทศแคนาดาที่กูลด์เป็นผู้จัดอยู่ระยะหนึ่ง
ฯลฯ “มาก” และ สร้าง “สีสัน”
สร้างความ “ฮือฮา” ได้พอๆ
กับ มาเรีย คัลลาส กูลด์ยุติการเล่นคอนเสิร์ตต่อสาธารณชน ขณะอายุ 31 ปี เพื่อมุ่งการบันทึกเสียง
สร้างสื่อซ้ำทางดนตรีทั้งแผ่นเสียงและแผ่นซีดี และทำโครงการทดลองด้านศิลปะและดนตรี
เด่นและได้รับการยกย่อง ยอมรับ ในการบรรเลงเปียโนบทเพลงของบาค
คำกล่าวของนักเปียโนรุ่นใหม่ ชาวฝรั่งเศส Pascal Roge บ่งบอกตัวตนทางดนตรีของกูลด์ได้สั้นและกระชับ
ว่า “เกลน กูลด์ เป็นผู้สร้างสรรค์
มากกว่าการเป็นผู้ตีความดนตรี”
“ผมคิดว่า
ความยิ่งใหญ่ของกูลด์ที่มีต่อนักดนตรี คือ
อิสรภาพในบรรเลงดนตรีผลงานเพลงชองนักแต่งเพลงท่านใดท่านหนึ่ง
แต่ในเวลาเดียวกันยังเคารพในตรรกะและจิตวิญญาณทางดนตรีของนักแต่งเพลงผู้นั้น
เป็นสมการแห่งความเท่าเทียมกันที่ท้าทายมาก”
นึกถึง
เกลน กูลด์ ไม่พ้นที่จะต้องนึกถึง แผ่นเสียงหรือแผ่นซีดีการบรรเลงบทเพลง
โกลด์เบิร์ก แวริเอชั่นส์ เป็นอัลบั้มคลาสสิก “ขึ้นหิ้ง”
ได้รับการยกย่องและชื่นชมมายาวนาน เพลงนี้กูลด์บันทึกเสียงไว้ 2
ครั้ง ครั้งแรกบันทึกเสียงปี ค.ศ.1955
ครั้งที่ 2 ปี ค.ศ.1981 น่าฟังคู่กัน
เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างในการบรรเลงและตีความเพลงของกูลด์
อันดับ 6 - อัลเฟรด คอร์โต (Alfred
Cortot) นักเปียโนชาวฝรั่งเศส
ครูเปียโนประจำสถาบันดนตรีกรุงปารีส ผู้ได้รับสมญานามว่า “กวีแห่งเปียโน”
แฟนเพลงคลาสสิกชื่นชอบคอร์โต ผ่านผลงานการบรรเลงเปียโน
บทเพลงของโชแปง, ชูมานน์ และ เดอบุซซี สำหรับผู้คนในแวดวงเปียโน เมื่อเอ่ยชื่อคอร์โต
สิ่งแรกที่หลายๆ คนนึกถึงคือ นักเปียโนที่เล่นเปียโนผิดโน้ตบ่อยครั้ง
แม้กระทั่งตอนเริ่มต้นเพลง หรือหลายคนนึกถึง วงทรีโอ อันประกอบด้วยเปียโน, ไวโอลิน
และเชลโล ที่โด่งดังมากในกลางศตวรรษที่ 20 ประกอบด้วยผู้เล่นฝีมือระดับโลก ได้แก่
อัลเฟรด คอร์โต เล่นเปียโน, จาค ธิบุด เล่นไวโอลิน และ พาโบล
คาซาลส์ เล่นเชลโล เป็นผลงานบรรเลงเชมเบอร์ มิวสิค ที่คอร์โตเล่นเปียโน
ซื้อมาหาฟังได้ง่ายกว่าแผ่นซีดีบรรเลงเปียโนเพียงอย่างเดียว สตีเฟน ฮาฟ
นักเปียโนชาวอังกฤษ ระลึกถึงคอร์โตว่า
“บางครั้งผู้ฟังจำนวนหนึ่ง
จดจำคอร์โตได้ในฐานะนักเปียโนที่เล่นโน้ตผิดมากมาย แต่ดูจะไม่ยุติธรรมสำหรับเขา
คอร์โตไม่เพียงแต่มีเทคนิคการเล่นเปียโนที่ดีเท่านั้น แต่ (ที่เขาเล่นผิดพลาด) เพราะไม่ต้องการให้ความมุ่งมั่นที่จะเล่นให้ถูกต้องตามตัวโน้ต
มาหันเหเขาออกไปจากภาพใหญ่โดยรวมของการตีความเพลง”
อันดับ 5 - อิมิล กิเลลส์ นักเปียโนชาวรัสเซีย
เรียนดนตรีจากสถาบันดนตรีกรุงมอสโคว์ ชนะการแข่งขันควีน อลิซาเบธ ในกรุงบรัสเซลส์
ปี ค.ศ. 1938 เป็นนักดนตรีหลังม่านเหล็กกลุ่มแรกๆ พร้อมเพื่อนพ้อง อาทิ เดวิด
ออยสตราค และ สเวียโตสลาฟ ริชเตอร์ ที่รัฐบาลรัสเซีย
อนุญาตให้เดินทางไปแสดงดนตรีในต่างประเทศได้ Cedric Tiberghien นักเปียโนหนุ่มชาวฝรั่งเศส
กล่าวถึงกิเลลส์ว่า
“เสียงเปียโนของกิเลลส์ มีส่วนผสมระหว่างคุณภาพเสียงที่น่าทึ่ง
และความสามารถในการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง (ในการเล่นเปียโน)
เป็นเรื่องที่ดูง่ายๆไปหมด หลายเพลงที่คุณคิดว่าเล่นง่ายๆ
แต่เมื่อคุณฟังการเล่นของเขาจากสื่อผลิตซ้ำทางดนตรี คุณจะถึงกับอุทานว่า โอ!
พระเจ้า มันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อจริงๆ”
สื่อผลิตซ้ำทางดนตรีของกิเลลส์
ผู้เขียนอยากแนะนำแผ่นซีดี บ๊อกซ์ เซท จำนวน 9 แผ่น สังกัดดอยช์ แกรมโมโฟน
บรรเลงเปียโน โซนาต้า ของเบโธเฟน เกือบครบทุกเพลง แผ่นซีดีบ๊อกซ์ เซท อีก 2
ชุด สังกัดค่ายเพลง Brilliant
Classics ซีรีย์ส Historic Russian Archives ชุดแรก
Emil Gilels Edition การเดี่ยวเปียโนบทเพลงของโชแปง, ลิสซ์ท,
ชูมานน์, โปรโคเฟียฟ, สเคียบิน,
เดอบุซซี ฯลฯ และการเดี่ยวเปียโนประชันกับวงออร์เคสตรา บทเพลงเปียโน
คอนแชร์โต ผลงานของคีตกวีหลายคน ร่วมกับวงยูเอสเอสอาร์ สเตท ซิมโฟนี ออร์เคสตรา
และ มอสโคว์ ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา ชุดที่สอง Emil Gilels Plays
Beethoven Piano Concertos and Piano Sonatas บรรเลงเปียโน คอนแชร์โต ทั้ง 5 บท
ร่วมกับวง สเตท ซิมโฟนี ออร์เคสตรา ออฟ ยูเอสเอสอาร์ อำนวนเพลงโดย เคิร์ต มาชัวร์
เป็นการบันทึกการแสดงสดระหว่างปี ค.ศ. 1961-1984
อันดับ 4 - อาร์เธอร์ รูบินสไตน์ นักเปียโนชาวโปแลนด์ ผู้สันทัดการบรรเลงเพลงของโชแปง
ด้วยวลีเพลงที่หลากหลาย เปี่ยมด้วยเสน่ห์ทางดนตรี หาฟังได้ยากยิ่งโรเจอร์ วูดวาร์ด
นักเปียโนชาวออสเตรเลีย แสดงความรู้สึกต่อรูบินสไตน์ว่า “รูบินสไตน์ไม่เพียงแต่ได้รับการยกย่องในเรื่องเทคนิคการเล่นเปียโนที่ยอดเยี่ยมดุจการเล่นของรัคมานินอฟหรือโฮโรวิตช์
แต่เขาสามารถพัฒนาวิธีการควบคุมการเล่นเสียงเพลงที่ลื่นไหลติดต่อกันลักษณะเสียงร้อง
และการยืดหดจังหวะที่โดดเด่นมาก” นักเปียโนอีกคน ณอง-อีฟ ทิโบเดต
กล่าวถึงรูบินสไตน์ว่า “รูบินสไตน์ให้คำแนะนำกับผม
ซึ่งผมไม่เคยลืมเลยว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการแสดงดนตรี คือ ต้องระลึกถึงผู้ฟังเสมอ
ต้องปฏิบัติต่อผู้ฟังเป็นอย่างดี และทำตัวให้พร้อมเสมอสำหรับการเล่นเปียโน”
“วิธีการที่รูบินสไตน์เล่นเพลงของโชแปงนั้น เป็นเสียงเปียโนที่สดใสมาก
เสมือนว่าเขาเล่นเพลงนั้นด้วยการด้นสด”สื่อผลิตซ้ำทางดนตรี
ที่ผู้เขียนมีโอกาสฟังและอยากแนะนำ เป็นแผ่นซีดี บ๊อกซ์ เซท บรรเลงเพลงของโชแปง
ออกมาแล้วหลายเวอร์ชั่น อาทิ แผ่นซีดีบ๊อกซ์ เซท จำนวน 11 แผ่น ชุดThe
Chopin Collection และ บ๊อกซ์ เซท 10 แผ่น ชุด The
Original Jacket Collection: Rubinstein Plays Chopin นอกเหนือจากการบรรเลงน่าจดจำแล้ว
ยังน่าสนใจด้วย อาร์ต เวิร์ค จากหน้าปกแผ่นเสียงเดิม
ที่สร้างความตื่นตะลึงกับผู้เขียน (เพราะอยากไล่ล่า ซื้อหามาฟังให้ได้ครบสมบูรณ์
บ๊อกซ์ เซทล่าสุดชุด Arthur Rubinstein: The Complete Album Collection จำนวน
144 แผ่น ออกเผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ มีโอกาสฟังเมื่อไร จะมาบอกเล่ากันอีกครั้ง
อันดับ 3 - สเวียโตสลาฟ ริชเตอร์
นักเปียโนชาวรัสเซีย ผู้โดดเด่นด้วยเทคนิคการเล่นที่มั่นคง
สร้างสีสันทางดนตรีได้หลากหลายนักเปียโนชาวไอร์แลนด์ แบร์รี ดักกลาส
ที่เคยมาแสดงในบ้านเราแล้วหลายครั้ง กล่าวถึงริชเตอร์ว่า
“ผมเคยฟังการเล่นเปียโนของริชเตอร์หลายครั้ง
ทั้งการแสดงในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา
ผมรักเสียงเปียโนของริชเตอร์เพราะเขาสามารถเล่นเปียโนได้เสียงดนตรีที่ไม่เหมือนเสียงเปียโน
แต่เป็นเสียงที่เหมือนกับเสียงของวงออร์เคสตรา หรือบางครั้งเหมือนกับเสียงวงขับร้องประสานเสียง”
“ผมคิดว่าสื่อผลิตซ้ำทางดนตรีของริชเตอร์ที่บันทึกในห้องบันทึกเสียง
ไม่ได้รับการชื่นชมเท่ากับการแสดงสดของเขา
เพราะสื่อผลิตซ้ำทางดนตรีเหล่านั้นไม่ได้ เป็นตัวแทนที่แท้จริงของเขา
สำหรับผมคิดว่า สื่อผลิตซ้ำทางดนตรีที่บันทึกการแสดงสดเท่านั้นที่น่าทึ่ง
น่าฟังยิ่ง”
อันดับ 2 - วลาดิเมียร์ โฮโรวิตซ์
นักเปียโนชาวรัสเซีย สันทัดการบรรเลงเปียโนผลงานเพลงของคีตกวีชาวรัสเซีย
และผลงานเพลงของสคาร์เลตติเฟร็ดดี เคมฟ์
นักเปียโนหนุ่มชาวอังกฤษ พูดถึงโฮโรวิตซ์ว่า
“ในบรรดานักเปียโนผู้โด่งดังทั้งหลาย
โฮโรวิตซ์เป็นนักเปียโนที่สามารถสร้างเสียงเปียโนที่หลากหลาย
ทั้งสีสันและความดัง-เบา ความหลากหลายที่สร้างบรรยากาศทางดนตรี
และเร้าอารมณ์ความรู้สึกในการฟัง”
“เทคนิคการเล่นเปียโนของโฮโรวิตซ์มีลักษณะเฉพาะตัว
เวลาเล่นเปียโนเขาจะวางข้อมือต่ำมาก มือและนิ้วมือของเขาจะตรงและเหยียดยาวออกไป
เวลาเล่นเปียโนเขาแทบจะไม่เคลื่อนไหวร่างกายเลย แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า
นั่งเล่นนิ่งๆ แบบนี้ สามารถสร้างเสียงเปียโนลักษณะโครมครามออกมาได้
โดยเฉพาะตอนที่เขาเล่นเพลง The Stars and Stripes Forever ซึ่งเขาเป็นคนเรียบเรียงเอง”
สื่อผลิตซ้ำทางดนตรี แผ่นซีดีชวนฟัง บ๊อกซ์ เซท 10 แผ่น ชุด The Original
Jacket Collection ออกเผยแพร่ปี ค.ศ. 2001
เป็นการโคลนจากแผ่นเสียงมาสู่แผ่นซีดี ทั้งบทเพลง หน้าปก และคำบรรยายเพลง
จัดทำโดยค่ายเพลงโซนี บ๊อกซ์ เซทชุดที่ 2 Complete Recording จำนวน
6 แผ่น สังกัดดอยช์ แกรมโมโฟน อาทิ ชุด โฮโรวิตช์ อิน มอสโคว์, โฮโรวิตช์
เพลย์ส โมสาร์ท, เดอะ ลาสต์ โรแมนติก ฯลฯที่ไม่ควรพลาด
แผ่นดีวีดีล่าสุด บ๊อกซ์ เซท รวม 6 แผ่น
หลายชุดเคยผ่านหูผ่านตาคอเพลงคลาสสิกมาแล้ว น่าเก็บสะสม แต่คุณภาพของภาพ
อาจทำให้หงุดหงิดได้สำหรับคนที่เคยชินกับการดูและฟังการแสดงอื่นๆ จากแผ่นบลูเรย์
อันดับ 1 - เซอร์เก รัคมานินอฟ
นักเปียโนและนักแต่งเพลงชาวรัสเซีย สุ้มเสียงเปียโนของเขาประดุจเสียงร้อง
ลักษณะเดียวกับเสียงไวโอลินของ ฟริตซ์ ไครสเลอร์ เทคนิคการเล่นที่ได้เปรียบคนอื่นๆ
ด้วยมีนิ้วมือที่ยาว ทำให้เล่นโน้ตขั้นคู่เสียงที่ห่างกันมากๆ ได้อย่างง่ายๆ
วลาดิเมียร์ โฮโรวิตซ์ พูดถึง รัคมานินอฟ นักเปียโนชาติเดียวกันว่า “รัคมานินอฟเป็นนักเปียโนที่โดดเด่นกว่านักเปียโนร่วมยุคสมัยเดียวกัน
เพราะว่านอกจากเป็นนักเปียโนแล้ว เขายังเป็นนักแต่งเพลงคลาสสิกด้วย ทำให้เขาเข้าใจองค์ประกอบทุกอย่างทางดนตรีสำหรับผู้สนใจที่อยากทำความรู้สึกกับการเล่นเปียโนของรัคมานินอฟ
แผ่นซีดี บ๊อกซ์ เซท 10 แผ่น ชุด Sergei Rachmaninoff: The Complete
Recordings เป็นการเริ่มต้นที่ดี จะเห็นได้ว่า
สื่อผลิตซ้ำทางดนตรีที่ผู้เขียนแนะนำ ส่วนใหญ่เป็นซีดี บ๊อกซ์
เซทประกอบด้วยกันหลายแผ่น เพราะราคาถูกลงมามาก ทำให้สามารถสัมผัส “ลงลึก”
ถึงเสียงดนตรี “เฉพาะ” ของนักดนตรีแต่ละคนได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งเห็นถึง “พัฒนาการ” การทำงานของนักดนตรีแต่ละคนได้ละเอียดกว่า.